สถาบันวิจัย ม.ราชภัฏลำปาง แจ้งผลการแลกเปลี่ยนประสบการณ์นักวิจัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่น

    
   ผศ.ดร.ดวงจันทร์  เดี่ยววิไล  ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา  มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง    เปิดเผยว่าเมื่อวันที่  2  กุมภาพันธ์  2554  ที่ผ่านมา  สถาบันวิจัยและพัฒนา  มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง  ได้จัดกิจกรรม  “เที่ยงวันสรรมาคุย”  ครั้งที่  1 ปีงบประมาณ  2554  โดยได้เชิญนักวิจัยที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้มีผลงานวิจัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่นดีเด่นและผู้ที่มีผลงานวิจัยระดับดีเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ในการประชุมวิชาการระดับชาติ  มหาวิทยาลัยราชภัฏ  ครั้งที่  2 เรื่อง  การวิจัยท้องถิ่นเพื่อแผ่นดินไทย  :  พัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในท้องถิ่น   ระหว่างวันที่  14 –  17  มกราคม  2554  ณ  มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม  จังหวัดพิษณุโลก   มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเพื่อเป็น  Best  Practices ในการทำวิจัยและการเขียนบทความวิจัย  จากนักวิจัย  6  ท่าน  คือ  อ.ชุติมา        คำบุญชู  รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา ,  อ.ดร.เจือจันทร์  วงศ์พลกานันท์ ,  อ.จารุวรรณ   ลิมป์ไพบูลย์  ,  อ.ฤาชุตา  เนตรจัด  ,  อ.อาทิตย์  วังนัยกูล  และ อ.นันทิยา  สมสรวย

   ในการจัดกิจกรรมครั้งนี้มีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมฟังจำนวนมาก    จากผลการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของนักวิจัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่นสรุปได้ว่า  การเริ่มต้นจะทำวิจัยนั้นต้องเริ่มจากตนเองก่อน  สำรวจความต้องการ  ความสนใจประเด็นวิจัยของตนเองและที่สำคัญโจทย์วิจัยต้องมาจรกความต้องการของชุมชน  จากนั้นต้องสนใจสิ่งรอบด้าน  แสวงหาความรู้เพิ่มเติมโดยการอ่านให้มาก  ศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม  จากตำรา  เอกสารรวมถึงบุคคลต่าง  ๆ  เพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์    ในการลงพื้นที่ความจริงใจที่ให้กับชุมชน  คือ  การเริ่มต้นที่ดี  เพื่อที่จะได้ความจริงของชุมชนและความต้องการของชุมชนให้มากที่สุด  แล้วจึงให้นำมาสร้างโจทย์และกรอบแนวคิดให้ชัดเจน  ในการเขียนข้อเสนอโครงการวิจัยเพื่อเสนอของงบประมาณสนับสนุนจากแหล่งทุนต่าง  ๆ

 ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา   มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง  กล่าวเพิ่มเติมว่า  นักวิจัยที่ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ได้ให้ความร่วมมือในกิจกรรมนี้เป็นอย่างดีและได้ร่วมสรุปแนวคิดจากผู้ร่วมกิจกรรม  คือ  “ความตั้งใจและจริงใจ”   มาจากการบ่มเพาะและการฝึกฝน  ความร่วมมือกับชุมชน  ความกลมกลืนกับชุมชน  และต้องหา  “คนที่ใช่”  ในชุมชน  ในการเขียนบทความจากผลงานวิจัยต้องเรียบเรียงให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของวารสารวิชาการหรือการประชุมทางวิชาการที่นำเสนอบทความในการเขียนบทความต้องพิถีพิถันตั้งแต่ชื่อเรื่อง     ประเด็นหัวข้อต่าง  ๆ  จนถึงบทสรุปและการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์รวมทั้งวิธีวิทยาของนักวิจัย  เขียนแล้วลองให้คนข้างเคียงอ่าน  ขอให้ผู้ทรงคุณวุฒิอ่านบ่อย  ๆ  เปรียบเทียบกัน  มีรูปภาพ  ตารางประกอบ

  ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา ม.ราชภัฏลำปาง   กล่าวในตอนท้ายว่าในปีงบประมาณ  พ.ศ.  2554  สถาบันวิจัยและพัฒนา  ม.ราชภัฏลำปาง  ยังมีกิจกรรมเพื่อพัฒนาสมรรถนะนักวิจัยของมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปางอย่างต่อเนื่อง  โดยกำหนดจัดกิจกรรมต่าง ๆ  จะได้แจ้งให้ทราบทางเว็บไซต์ของสถาบันวิจัยและพัฒนา  www.rsc.lpru.ac.th  และข่าวสารประชาสัมพันธ์ของมหาวิทยาลัยต่อไป

แสดงความคิดเห็น

comments

GD Star Rating
loading...

ผู้ดูแลระบบ

มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง 119 ม.9 ตำบลชมพู อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง 52100

ติดต่อ สอบถาม คำแนะนำ