สถาบันวิจัยฯ ม.ราชภัฏลำปางจัดกิจกรรมน่าสนใจ
นำคณาจารย์มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเที่ยงวันสรรหามาคุย
สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง จัดกิจกรรมเที่ยงวันสรรหามาคุย โดยให้คณาจารย์ในมหาวิทยาลัยร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนประเด็นต่างๆ เพื่อการพัฒนางานวิจัย ล่าสุดจัดเป็นครั้งที่ ๔/๒๕๕๓ ในหัวเรื่อง “เขียนและทำอย่างไรให้ได้ทรัพย์สินทางปัญญาและใช้ประโยชน์”
ผศ.ดร.ดวงจันทร์ เดี่ยววิไล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง เปิดเผยว่า ปัจจุบัน อาจารย์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ได้สร้างสรรค์ผลงานวิจัยและผลงานทางวิชาการที่มีคุณภาพ อยู่จำนวนไม่น้อย แต่ยังขาดระบบและกลไกในการนำผลงานวิจัยและผลงานทางวิชาการให้ได้รับการจดลิขสิทธิ์ หรือทรัพย์สินทางปัญญา รวมทั้งปัจจุบันในการประเมินคุณภาพภายนอก สมศ. ได้กำหนดตัวบ่งชี้ ๒.๓ ร้อยละผลงานวิชาการที่ได้รับการรับรองคุณภาพ และก.พ.ร. ตัวชี้วัดที่ ๔.๒.๓ ร้อยละของผลงานวิชาการที่ได้รับหนังสือรับรองการแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์/หรือได้รับรองคุณภาพจากหน่วยงานที่เชื่อถือได้ต่ออาจารย์ประจำ/นักวิจัยประจำ เป็นตัวประเมินคุณภาพด้านการวิจัยและผลงานวิชาการ
นอกจากนี้ สถาบันวิจัยและพัฒนา เป็นส่วนราชการของมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปางที่มีพันธกิจในการสนับสนุนการวิจัยแก่อาจารย์และนักวิจัย ได้ห็นความสำคัญและประโยชน์ของการจดทะเบียนและคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา จากผลงานวิจัยผลงานวิชาการของอาจารย์และนักวิจัยดังนั้น ทางสถาบันวิจัยและพัฒนา จึงได้จัดกิจกรรมเที่ยงวันสรรมาคุย ครั้งที่ ๔/๒๕๕๓ เรื่อง “เขียนและทำอย่างไรให้ได้ทรัพย์สินทางปัญญาและใช้ประโยชน์” ในวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๕๓ ณ สถาบันวิจัยและพัฒนา ชั้น ๒ อาคารโอฬารฯ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงานวิจัยและผลงานทางวิชาการ และเพื่อให้อาจารย์และนักวิจัยได้เห็นความสำคัญและแนวทางในการเป็นเจ้าของผลงานทรัพย์สินทางปัญญาและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง โดยได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิทั้งภายในและภายนอกมาร่วมแลกเปลี่ยน แนะนำและแสดงความคิดเห็นด้วย
ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยฯ กล่าวต่อไปว่า ในการจัดกิจกรรมเที่ยงวันสรรหามาคุยที่มีการจัดขึ้นในครั้งที่ ๑-๓ นั้น ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดียิ่ง โดยได้รับความสนใจและความร่วมมือจากคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยเข้าร่วมกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทางสถาบันวิจัยฯ ก็จะดำเนินกิจกรรมในลักษณะดังกล่าวอย่างต่อเนื่องและจะมีการเปลี่ยนหัวเรื่องตามความต้องการหรือความสนใจของคณาจารย์เป็นหลัก