๓ ราชภัฏภาคเหนือบนลงนามพัฒนาคุณภาพการศึกษา
เล็งจับมือเพื่อผลการพัฒนามาตรฐานทุกด้าน
มหาวิทยาลัยราชภัฏ ๓ แห่งในภาคเหนือตอนบน ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ลงนามความร่วมมือเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาและดำเนินการร่วมกันเพื่อผลลัพธ์ทางด้านการผ่านมาตรฐานการจัดการศึกษาจากผู้ประเมินหลายหน่วยงาน
ผู้สื่อข่าวรายงานจากมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ว่า เมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๕๓
ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยราชภัฏกลุ่มภาคเหนือตอนบนซึ่งประกอบด้วยมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ได้ลงนามความร่วมมือทางวิชาการ “การพัฒนาคุณภาพการศึกษาระดับอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏภาคเหนือ” ณ ห้องประชุม
ธัญกร ชั้น ๑ อาคาร ๓๖ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง โดยมีอธิการบดีของมหาวิทยาลัยทั้ง ๓ แห่ง ประกอบด้วย ผศ.ดร.เรืองเดช วงศ์หล้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ , ผศ.เล็ก แสงมีอานุภาพ รักษาราชการแทนธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง และ
ผศ.สิทธิชัย หาญสมบัติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ เป็นผู้ลงนามความร่วมมือฉบับดังกล่าว และมีผู้บริหาร คณาจารย์ ข้าราชการและบุคลากรของมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง ๓ แห่ง ร่วมเป็นสักขีพยานกว่า ๑๕๐ คน
สำหรับการลงนามความร่วมมือทางวิชาการในครั้งนี้ เป็นผลมาจากกลุ่มเครือข่ายพัฒนาคุณภาพการศึกษาระดับอุดมศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏภาคเหนือ มีความประสงค์ร่วมมือกันดำเนินการพัฒนาคุณภาพการศึกษาระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏภาคเหนือ โดยได้ร่วมกันเพื่อให้มีพลังขับเคลื่อน การบริหารจัดการให้เกิดผลผลิต ผลลัพธ์ที่ได้คุณภาพ ได้มาตรฐาน ทั้งมาตรฐานของมหาวิทยาลัย มาตรฐานอุดมศึกษา และมาตรฐานการศึกษาชาติ จึงเห็นชอบร่วมกัน และลงนามความร่วมมือในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาตลอดไป
นอกจากนี้ ก่อนที่จะมีการลงนามความร่วมมือนั้น ได้มีการจัดสัมมนาเพื่อการระดมความคิดเห็นเพื่อร่วมกันในการวิเคราะห์ตัวบ่งชี้ของ สมศ. และ สกอ. ที่มีการปรับปรุงใหม่ รวมทั้งเพื่อร่วมกันในการจัดทำแนวทางการปฏิบัติและการรวบรวมหลักฐานในแต่ละตัวบ่งชี้และเกณฑ์การประเมิน รวมทั้งมีการนำเสนอแนวทางการปฏิบัติและเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อความเข้าใจในแต่ละตัวบ่งชี้ของ สมศ. และ สกอ. ที่ปรับปรุงใหม่ ซึ่งมหาวิทยาลัยเครือข่ายทั้ง ๓ มหาวิทยาลัยสามารถดำเนินการและผ่านการประเมินคุณภาพการศึกษาในระดับดีมากตามที่แต่ละมหาวิทยาลัยต้องการโดยมีบุคลากรของทั้ง ๓ มหาวิทยาลัยที่ดำเนินงานด้านการประกันคุณภาพร่วมประชุมอีกด้วย